เมนูอาหารเจ เทศกาลกินเจ

รวบรวม...เมนูอาหารเจอร่อยๆ สูตรอาหารเจง่ายๆ

คลิ๊กเลย >>> รวบรวมเมนูอาหารเจ..อร่อยๆ   สอนทำอาหารเจง่ายๆ

วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556

บาปเวรมาจากที่ไหน? และแรงกรรมนั้นเกิดขึ้นจากที่ใด? - พระโอวาทสิ่งศักดิ์สิทธิ์พระพุทธจี้กง เมตตา


ทำไมคนเราต้องชดใช้หนี้สินเวรกรรม ชำระบาปเวร บาปเวรมาจากที่ไหน? และแรงกรรมนั้นเกิดขึ้นจากที่ใด?  

พระโอวาทสิ่งศักดิ์สิทธิ์พระพุทธจี้กง เมตตา

     "ตนเองนั้นลุ่มหลงจนเกิดความฉงนสนเท่ห์ จึงเกิดเป็นแรงกรรมขึ้นใช่ไหม?  ทำไมคนจึงลุ่มหลงได้?  (เพราะมีโลภ โกรธ หลง) เป็นเพราะโลภ โกรธ หลง ๓ พิษนี้ส่งผลร้ายให้กับเจ้าใช่ไหม?  (ใช่) 

     เป็นเพราะความโลภ โกรธ หลง เข้ามายึดครองจิตมโนธรรมสำนึกของเจ้า ความโลภ โกรธ หลง ที่อยู่ในตัวของเจ้ายึดครองสัญชาตญาณ และบดบังปรีชาญาณของพวกเจ้าไปแล้ว 
                                          เนื่องจากมีความโลภ เจ้าจึงละเมิดศีล ๕ 
                                          เป็นเพราะความโกรธ และความหลง จึงทำให้ศิษย์นั้นละเมิดในศีล ๕  

ศีล ๕ มีอะไรบ้างในใจของเจ้านั้นรู้ดีอยู่แล้วใช่ไหม?  (ใช่)

     ศีล ๕ มีอะไรบ้าง?  (ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ลักขโมย ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดปด ไม่ดื่มสุรา) ดูเหมือนว่าศิษย์ผู้หญิงจะตอบไม่ค่อยได้นะ ไม่เป็นไร 

     พูดถึงการฆ่า ศิษย์รู้สึกว่าผิดศีลข้อที่ ๑ ไหม?  (ผิด) ผิดอยู่ที่ไหน?  พูดให้ละเอียดอีกสักหน่อย การฆ่านี้ศิษย์ได้เอามีดไปฆ่าสัตว์ไหม?  (มี) ฆ่าอะไร?  (ฆ่าสัตว์) แล้วได้ใช้ ๒ มือไปทำอาชีพเกี่ยวกับการฆ่าไหม?  (ไม่) แล้วได้ใช้ปากไปทำการเข่นฆ่าไหม?  (มี) 
     แม้กินเนื้อเพียงคำเดียวก็ถือเป็นการฆ่าสัตว์แล้ว เมื่อเกิดการฆ่าขึ้นก็จะถูกจดบันทึกความผิดบาปมากมายนับไม่ถ้วน และความผิดบาปนี้มีการสั่งสมมาตั้งแต่อดีตชาติด้วย แรงกรรมตรงนี้ก็จะมากำหนดชะตาชีวิตของเจ้า

     ศิษย์เอ๋ย! ดังนั้นเจ้าไม่ต้องรู้สึกเลยว่าทำไมชาตินี้เจ้าถึงทุกข์ยากลำบากเหลือเกิน แล้วทำไมชาตินี้ถึงมีแต่ความลุ่มๆดอนๆไม่ราบรื่น ก็เนื่องจากแรงกรรมที่ศิษย์แต่ละคนสั่งสมมาตั้งแต่อดีต เป็นตัวควบคุมกำหนดชะตาชีิวิตในชาตินี้ทั้งชาติของเจ้า แต่ว่าถ้าจะอาศัยพลังของการฆ่าอย่างเดียวก็คงไม่มีพลังมากขนาดนั้น ยังมีอะไรอีก การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม ความอยาก การพูดปด พูดคำหยาบ ติฉินนินทา สุดท้ายยังมีการดื่มสุราทำให้ขาดสติ

     แท้ที่จริงในโลกใบนี้ ในขณะที่มีเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นย่อมจะมีสาเหตุของมันอยู่ เมื่อเกิดเรื่องเรื่องหนึ่งขึ้นมา ไม่ใช่ว่าจะไม่มีที่มา ไม่มีสาเหตุ 

     ในวันนี้ที่เจ้าเป็นแบบนี้ ไม่ว่าจะร่ำรวย สูงศักดิ์ฺ ยากจน ต่ำต้อยก็ดี หน้าตาสวยงามก็ดี หรืออัปลักษณ์ ขี้เหร่ก็ดี สิ่งเหล่านี้เกิดมาจากเหตุปัจจัยต่างๆประกอบกันขึ้นมา เหตุปัจจัยเหล่านี้ มีทั้งเหตุปัจจัยที่ดีงาม และเหตุปัจจัยที่เลวร้าย ถ้าหากเจ้าสร้างกรรมสัมพันธ์ขึ้นมา ก็เท่ากับเจ้าได้สั่งสมเหตุปัจจัยที่ไม่ดีเอาไว้ ถ้าหากเจ้าปลูกเหตุแห่งชั่วร้าย ผลที่ได้รับจะดีหรือไม่?  

     ในทางกลับกัน หากทุกขณะความคิดทุกการกระทำของศิษย์ปลูกเหตุปัจจัยที่ดี ผลที่เจ้าจะได้รับย่อมเป็นผลที่ดีมีความงดงามอย่างแน่นอน ใช่ไหม?  (ใช่)"




วันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2556

คัมภีร์โปรดสรรพสัตว์ ฟื้นฟูเมตตาจิต - พระโอวาทสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมตตาประทาน


คัมภีร์โปรดสรรพสัตว์ ฟื้นฟูเมตตาจิต 

พระโอวาทสิ่งศักดิ์สิทธิ์...

     คนใจบุญที่แท้จริง ใช่เพียงสั่งสมบุญกุศล ช่วยเหลือผู้ที่กำลังตกทุกข์เท่านั้น ยังต้องมีจิตเมตตาแผ่ไปถึงสรรพสัตว์อีกด้วย

ความมีเมตตาคือใจกรุณา อันเป็นพื้นฐานของความดีทั้งปวง

ความเมตตามีความหมายสองประการ
๑. สงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก
๒. ละเว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ทั้งยังต้องปล่อยสัตว์ เป็นหลักในการสั่งสมบุญกุศลและเป็นพื้นฐานของการเป็นคนดี

     ในพระสูตรกล่าวว่า "หากมนุษย์ละเว้นการฆ่า สงสารและปลดปล่อยชีวิต ให้ทานเลี้ยงอาหาร ก็จะได้อายุขัยเป็นผลตอบสนอง"

     เมื่อเห็นเด็กๆ รังแกชีวิตสัตว์เช่น แมลง นก และสัตว์เล็กๆ เหล่านี้ต้องห้ามปรามอย่าให้เด็กๆ ทำร้ายสัตว์เหล่านั้นอย่างนี้ไม่เพียงได้คุ้มครองชีวิตสัตว์แล้วก็ไม่ทำลายบุญวาสนาของเด็กด้วย มิฉะนั้น ถ้าส่งเสริมให้เด็กฆ่าสัตว์ เมื่อโตขึ้นเขาก็จะขาดซึ่งจิตสำนึกแห่งความเมตตากรุณา อีกทั้งแม่บ้านที่ชอบเอาน้ำเดือดมาราดพื้นทำความสะอาดเพื่อฆ่ามดแมลง นี่ก็เป็นสิ่งที่ต้องละเว้น

     ยังมีสัตว์ที่กำลังตกอยู่ในอันตรายเช่น แมลงเม่า แมลงติดใยแมงมุม นกติดบ่วง มดที่เดินเพ่นพ่าน กุ้งหอยปูปลาติดร่างแห เห็นแล้วก็ควรเข้าไปช่วยปลดปล่อย

     เหล่านี้ล้วนมีผลตอบสนองให้อายุยืนยาวทั้งสิ้น เป็นเรื่องของการทำความดี ดั่งปณิธานของพระสมันตภัทรโพธิสัตว์

     "กุศลความดีใดๆ ที่ทำแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายได้ยินดี บรรดาพุทธตถาคตเจ้าทั้งหลายก็พลอยยินดีในกุศลนั้นด้วย เพราะเหตุใดเล่า เหตุเพราะตถาคตทั้งหลายมีเมตตาจิตเป็นพื้นฐาน
                                                       เพราะสรรพสัตว์เป็นปัจจัย      จึงบังเิกิดมหาเมตตา
                                                       เพราะมหาเมตตาเป็นปัจจัย    จึงบังเกิดโพธิจิต
                                                       เพราะโพธิจิตเป็นปัจจัย           จึงสำเร็จมรรคผล
อันสรรพสัตว์ทั้งหลายสิ่งที่รักที่สุดคือ ชีวิต บรรดาพุทธะโพธิสัตว์นั้นรักเวไนย์สัตว์ยิ่งกว่าชีวิต
เพราะฉะนั้น เมื่อได้ช่วยชีวิตสัตว์ก็ทำให้ปณิธานของเหล่าพระพุทธะโพธิสัตว์บรรลุผล"

เห็นได้ว่าวจนะที่พร่ำสอนของบรรดาพุทธะโพธิสัตว์ มิใช่หรือที่กล่อมเกลาให้เรานั้นปลดปล่อยความเจ็บปวดของเวไนยสัตว์ สอนให้เรานั้นพึงงดเว้นเสียจากการกินเลือดเนื้อของเวไนยสัตว์ ใช่หรือไม่...

เพราะฉะนั้น รู้จักตักเตือนส่งเสริมคนให้ปล่อยสัตว์ ก็คือ การฟื้นฟูจิตเมตตา นี่คือการสร้างกุศลสัมพันธ์ อันเป็นเหตุให้พบความสุขทุก ๆ กัป...

การฆ่าทำร้ายทำลายชีวิตสัตว์ เป็นการปลูกฝังเมล็ดพันธุ์ของความเหี้ยมโหด อันเป็นรากเหง้าแห่งวิบากกรรมที่จะต้องพบกับการแก้แค้นทุก ๆ กัปไป...

“บุคคลที่ชอบใช้แห อวน ตาข่าย ดักจับนก ปลา กุ้ง และสัตว์น้ำทุกประเภท กรรมจะสนองให้ต้องพลัดพรากจาก สามี ภรรยาและบุตรธิดาของตน”




วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2556

สุวรรณสามชาดก ( ชาติที่ ๓ บำเพ็ญเมตตาบารมี ) - ทศชาติชาดก


สุวรรณสามชาดก (ชาติที่ ๓ บำเพ็ญเมตตาบารมี)

ทศชาติชาดก ๑๐ ชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ ก่อนจะเสวยพระชาติมาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะแห่งศากยวงศ์ ก่อนตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณสำเร็จเป็นพระศากยมุนีพุทธเจ้า

............................................................................................................................................................................................

พระสุวรรณสาม (สุวรรณสามชาดก) ผู้บำเพ็ญเมตตาบารมี 
   
     กาลครั้งหนึ่งนานมากแล้ว มีสหายสองคนรักใคร่กันมาก ต่างก็ตั้งบ้านเรือน อยู่ใกล้เคียงกัน ไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ ทั้งสองคนตั้งใจว่า ถ้าฝ่ายหนึ่งมีลูกสาว อีกฝ่ายหนึ่งมีลูกชาย ก็จะให้แต่งงาน เพื่อครอบครัวทั้งสองฝ่ายจะได้ ผูกพันใกล้ชิดกันไม่มีเสื่อมคลาย

     อยู่ต่อมาฝ่ายหนึ่งก็มีลูกชายชื่อว่า ทุกูลกุมาร อีกฝ่ายหนึ่งมีลูกสาว ชื่อว่า ปาริกากุมารี เด็กทั้งสองมีรูป ร่างหน่าตางดงาม สติปัญญาฉลาดเฉลียว และมีจิตใจมั่นอยู่ในศีล เมื่อเติบโตขึ้น พ่อแม่ของทั้งสองก็ตกลงจะทำตามที่เคย ตั้งใจไว้ คือให้ลูกของทั้งสองบ้านได้แต่งงานกัน แต่ทั้งทุกูลกุมารและปาริกากุมารี ต่างบอกกับพ่อแม่ ของตนว่า ไม่ต้องการแต่งงานกัน แม้จะรู้ดีว่า ฝ่ายหนึ่ง เป็นคนดี รูปร่างหน้าตางดงาม และเป็นเพื่อนสนิท มาตั้งแต่เด็กก็ตาม

     ในที่สุด พ่อแม่ของทั้งสองก็จัดการแต่งงานให้จนได้ แต่แม้ว่าทุกูลและปาริกาจะแต่งงานกันแล้ว ต่างยังคงประพฤติ ปฏิบัติเสมือนเป็นเพื่อนกันตลอดมา ไม่เคยประพฤติต่อกัน ฉันสามีภรรยา ยิ่งไปกว่านั้นทั้ง สองคนมีความปราถนาตรงกัน คือประสงค์จะออกบวช ไม่อยากดำเนินชีวิตอย่างชาวบ้าน ธรรมดาซึ่ง จะต้องพัวพันอยู่กับการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เพื่อเป็นอาหารบ้าง เพื่อป้องกันตัวเองบ้าง เมื่อได้อ้อนวอนพ่อแม่ทั้งสองบ้านอยู่เป็นเวลานาน


     ในที่สุด ทั้งสองก็ได้รับคำอนุญาตให้บวชได้ จึงพากัน เดินทางไปสู่ป่าใหญ่ และอธิษฐานออกบวช นุ่งห่มผ้าย้อม เปลือกไม้และไว้มวยผมอย่างดาบส บำเพ็ญ ธรรมอยู่ ณ ศาลาในป่านั้น ด้วยความเมตตาอันมั่นคง ของทั้งสองคน บรรดาสิงสาราสัตว์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ต่างก็มีเมตตาจิตต่อกัน ไม่ทำร้ายซึ่งกันและกัน ต่างหากินอยู่ด้วยความสุขสำราญ

     ต่อมาวันหนึ่ง พระอินทร์เล็งเห็นอันตรายซึ่งจะบังเกิดแก่ ทุกูลดาบสและปาริกาดาบสินี จึงตรัสบอกแก่ ดาบสว่า "ข้าพเจ้าเล็งเห็นว่า อันตรายจะเกิดขึ้นแก่ท่าน ขอให้ท่านจงมีบุตร เพื่อเป็น ผู้ช่วยเหลือ ปรนนิบัติในยามยากลำบากเถิด" ทุกูลดาบสจึงถามว่า "อาตมาบำเพ็ญพรตเพื่อความพ้นทุกข์ อาตมาจะมีบุตรได้อย่างไร อาตมาไม่ต้องการดำเนินชีวิต อย่างชาวโลก ที่จะทำให้ต้องวนเวียนอยู่ในความทุกข์อีก" พระอินทร์ตรัสว่า "ท่านไม่จำเป็นต้องประพฤติปฏิบัติ อย่างชาวโลก แต่ท่านจำเป็นต้องมีบุตรไว้ช่วย เหลือปรนนิบัติ ขอให้เชื่อข้าพเจ้าเถิด ท่านเพียงแต่เอามือลูบท้องนางปาริกา ดาบสินี นางก็จะตั้งครรภ์ ลูกในครรภ์นางจะได้เป็นผู้ดูแล ท่านทั้งสองต่อไป"


     เมื่อพระอินทร์ตรัสบอกดังนั้น ทุกูลดาบสจึงทำตาม ต่อมานางปาริกาก็ตั้งครรภ์ ครั้นครบกำหนด ก็คลอดบุตร มีผิวพรรณงดงามราวทองคำบริสุทธิ์ จึงได้ชื่อว่า "สุวรรณสาม" ปาริกาดาบสสินี เลี้ยงดู สุวรรณสามจนเติบใหญ่อยู่ในป่านั้น มีบรรดาสัตว์น้อยใหญ่นานาชนิดแวดล้อมเป็นเพื่อนเล่น ตั้งแต่ยังเป็นเด็กอยู่ สุวรรณสามหมั่นสังเกตจดจำสิ่งที่ พ่อและแม่ได้ปฏิบัติ เช่น การไปตักน้ำ ไปหา ผลไม้เป็นอาหาร เส้นทางที่ไปหาน้ำและอาหาร สุวรรณสามพยายามช่วยเหลือ พ่อและแม่ กระทำกิจกรรมต่างๆ เท่าที่จะทำได้ เพื่อให้พ่อแม่ ได้มีเวลาบำเพ็ญธรรมตามที่ประสงค์


     วันหนึ่ง เมื่อทุกูลดาบสและนางปาริกา ออกไปหาผลไม้ในป่า เผอิญฝนตกหนักทั้งสองจึงหลบฝนอยู่ที่ ต้นไม้ใหญ่ใกล้ จอมปลวก โดยไม่รู้ว่าที่จอมปลวกนั้นมีงูพิษอาศัยอยู่ น้ำฝนที่ชุ่มเสื้อฝ้า และมุ่นผมของ ทั้งสองไหลหยดลงไปในรูงู งูตกใจจึงพ่นพิษออกมาป้องกันตัว พิษร้ายของงูเข้าตาทั้งสองคน ความร้ายกาจของพิษทำให้ดวงตาบอดมืดมิดไปทันที ทุกูลดาบสและนางปาริกาดาบสินี จึงไม่สามารถจะกลับไปถึง ศาลาที่พักได้ เพราะมองไม่เห็นทาง ต้องวนเวียนคลำทางอยู่แถวนั้นเอง คนทั้งสองต้องเสียดวงตา

     เพราะกรรมในชาติก่อน เมื่อครั้งที่ ทุกูลดาบสเกิดเป็นหมอรักษาตา ปาริกา เกิดเป็นภรรยาของหมอนั้น วันหนึ่งหมอได้รักษาตาของเศรษฐีคนหนึ่งจนหายขาดแล้ว แต่เศรษฐีไม่ยอมจ่ายค่ารักษา ภรรยาจึงบอกกับสามีว่า "พี่จงทำยาขึ้นอย่างหนึ่งให้มีฤทธิ์แรง แล้วเอาไปให้เศรษฐีผู้นั้น บอกว่าตายังไม่หายสนิท ขอให้ใช้ยานี้ป้ายอีก" หมอตาทำตามที่ภรรยาบอก ฝ่ายเศรษฐีเชื่อในสรรพคุณยา ของหมอ ก็ทำตาม ตาของเศรษฐีก็กลับบอด สนิทในไม่ช้าด้วย บาปที่ทำไว้ในชาติก่อน ส่งผลให้ทั้งสองคนต้องตาบอดไปในชาตินี้

     ฝ่ายสุวรรณสาม คอยพ่อแม่อยู่ที่ศาลา ไม่เห็นกลับมาตามเวลา จึงออกเดินตามหา ในที่สุดก็พบพ่อแม่ วนเวียนอยู่ข้างจอมปลวก เพราะนัยน์ตาบอด หาทางกลับไม่ได้ สุวรรณสามจึงถามว่า เกิดอะไรขึ้น เมื่อพ่อแม่เล่าให้ฟัง สุวรรณสามก็ร้องไห้ แล้วก็หัวเราะ พ่อแม่จึงถามว่าเหตุใดจึงร้องไห้แล้วก็หัวเราะ เช่นนั้น สุวรรณสาม ตอบว่า "ลูกร้องไห้เพราะเสียใจที่พ่อแม่นัยน์ตาบอด แต่หัวเราะ เพราะลูกดีใจที่ลูกจะได้ ปรนนิบัติดูแล ตอบแทนพระคุณพ่อแม่ ที่เลี้ยงดูลูกมา พ่อแม่อย่าเป็นทุกข์ไปเลย ลูกจะปรนนิบัติ ไม่ให้พ่อแม่ต้องเดือดร้อนแต่อย่างใด" จากนั้น สุวรรณสามก็พาพ่อแม่กลับไปยังศาลาที่พัก จัดหาเชือก มาผูกโยงไว้โดยรอบ สำหรับพ่อแม่จะได้ใช้จับเป็นราวเดินไป ทำอะไรๆ ได้สะดวกในบริเวณศาลานั้น


     ทุกๆ วัน สุวรรณสาม จะไปตักน้ำมา สำหรับพ่อแม่ได้ดื่มได้ใช้ และไปหา ผลไม้ในป่ามาเป็นอาหารและตนเอง เวลาที่สุวรรณสามออกป่าหาผลไม้ บรรดาสัตว์ทั้งหลาย จะพากันมาแวดล้อมด้วยความไว้วางใจ เพราะสุวรรณสาม เป็นผู้มีเมตตาจิต ไม่เคยทำอันตรายแก่ฝูงสัตว์ สุวรรณสามจึงมีเพื่อนแวดล้อมเป็นบรรดา สัตว์นานาชนิด พ่อแม่ลูกทั้งสามจึงมีแต่ความสุขสงบ ปราศจาก ความทุกข์ร้อนวุ่นวายทั้งปวง

     อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาแห่งเมืองพาราณสี พระนามว่า "กบิลยักขราช" เป็นผู้ชอบออกป่าล่าสัตว์ พระองค์เสด็จออกล่าสัตว์ มาจนถึงท่าน้ำที่สุวรรณสามมาตักน้ำไปให้พ่อแม่ พระราชาสังเกตเห็น รอยเท้า สัตว์ชุกชุมในบริเวณนั้น จึงซุ่มคอยจะยิงสัตว์ที่ผ่านมากินน้ำ ขณะนั้น สุวรรณสามนำหม้อน้ำมาตักน้ำไปใช้ที่ศาลาดังเช่นเคย มีฝูงสัตว์เดินตามมาด้วยมากมาย พระราชาทอดพระเนตรเห็น ก็ทรงแปลกพระทัยว่า สุวรรณสามเป็นมนุษย์หรือเทวดา เหตุใดจึง เดินมา กับฝูงสัตว์ ครั้นจะเข้าไปถามก็เกรงว่าสุวรรณสาม จะตกใจหนีไป ก็จะไม่ได้ตัวจึงคิดจะยิงด้วยธนูให้หมด กำลังก่อนแล้วค่อยจับตัวไว้ซักถาม

     เมื่อสุวรรณสามลงไปตักน้ำแล้ว กำลังจะเดินกลับไปศาลา พระราชากบิลยักขราชก็เล็งยิงด้วยธนูอาบยา ถูกสุวรรณสาม ที่สำตัวทะลุจากขวาไปซ้าย สุวรรณสามล้มลงกับพื้น แต่ยังไม่ถึงตาย จึงเอ่ยขึ้นว่า "เนื้อของเรากินไม่ได้ หนังของเราเอาไปทำอะไรก็ไม่ได้ จะยิงเราทำไม คนที่ยิงเราเป็นใคร ยิงแล้วจะ ซ่อนตัวอยู่ทำไม" กบิลยักขราชได้ยินวาจาอ่อนหวานเช่นนั้นก็ยิ่งแปลกพระทัย ทรงคิดว่า "หนุ่มน้อยนี้เป็นใครหนอ ถูกเรายิงล้มลงแล้ว ยังไม่โกรธเคือง กลับใช้ถ้อยคำอันอ่อนหวาน แทนที่จะด่าว่า ด้วยความ โกรธแค้น เราจะต้องแสดงตัวให้เขาเห็น"


     คิดดังนั้นแล้ว พระราชาจึงออกจากที่ซุ่มไปประทับอยู่ข้างๆ สุวรรณสาม พลางตรัสว่า "เราชื่อกบิลยักขราช เป็นพระราชา แห่งแมืองพาราณสี เจ้าเป็นผู้ใด มาทำอะไรอยู่ในป่านี้" สุวรรณสามตอบไปตามความจริงว่า "ข้าพเจ้าเป็นบุตรดาบส ชื่อว่าสุวรรณสาม พระองค์ยิงข้าพเจ้าด้วยธนูพิษ ได้รับ ความเจ็บปวดสาหัส พระองค์ประสงค์อะไรจึงยิงข้าพเจ้า" พระราชาไม่กล้าตอบความจริง จึงแสร้งตรัสเท็จว่า "เราตั้งใจจะยิงเนื้อเป็นอาหาร แต่พอเจ้ามาเนื้อก็ เตลิดหนีไปหมด เราโกรธจึงยิงเจ้า " สุวรรณสามแย้งว่า "เหตุใดพระองค์จึงตรัสอย่างนั้น บรรดาสัตว์ทั้งหลายในป่านี้ไม่เคยกลัวข้าพเจ้า ไม่เคยเตลิด หนีข้าพเจ้าเลย สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนของข้าพเจ้า"

พระราชาทรงละอายพระทัยที่ตรัสความเท็จแก่สุวรรณสาม ผู้ถูกยิงโดยปราศจากความผิด จึงตรัสตามความจริงว่า "เป็นความจริงตามที่เจ้าว่า สัตว์ทั้งหลายมิได้กลัวภัย จากเจ้าเลย เรายิงเจ้าก็เพราะความโง่เขลาของเราเอง เจ้าอยู่กับใครในป่านี้ ออกตักน้ำไปให้ใคร"

สุวรรณสามบ้วนโลหิตออกจากปาก ตอบพระราชาว่า "ข้าพเจ้าอยู่กับพ่อแม่ ซึ่งตาบอดทั้งสองคน อยู่ในศาลา ในป่านี้ ข้าพเจ้าทำหน้าที่ปรนนิบัติพ่อแม่ ดูแลหาน้ำและอาหาร สำหรับท่านทั้งสอง เมื่อข้าพเจ้า มาถูกยิงเช่นนี้ พ่อแม่ก็จะไม่มี ใครดูแลปรนนิบัติอีกต่อไป อาหารที่ศาลายังพอสำหรับ 6 วัน แต่ไม่มีน้ำ พ่อแม่ของข้าพเจ้าจะต้องอดน้ำและอาหาร เมื่อปราศจากข้าพเจ้า โอ พระราชา ความทุกข์ ความเจ็บปวด ที่เกิดจากถูกยิงด้วยธนูของท่านนั้น ยังไม่เท่าความทุกข์ ความเจ็บปวดที่เป็นห่วงพ่อแม่ของข้าพเจ้า จะต้องได้รับ ความเดือดร้อนเพราะขาดข้าพเจ้าผู้ปรนนิบัติ ต่อไปนี้พ่อแม่คงไม่ได้เห็นหน้าข้าพเจ้าอีก แล้ว" สุวรรณสามรำพันแล้วร้องไห้ด้วยความทุกข์ใจอย่างยิ่ง

     พระราชาทรงได้ยินดังนั้นก็เสียพระทัยยิ่งนักว่า ได้ทำร้าย สุวรรณสามผู้มีความกตัญญูสูงสุด ผู้ไม่เคยทำอันตราย ต่อสิ่งใดเลย จึงตรัสกับสุวรรณสามว่า "ท่านอย่ากังวลไปเลย สุวรรณสาม เราจะรับดูแลปรนนิบัติพ่อแม่ของท่านให้เหมือน กับที่ท่านได้เคย ทำมา จงบอกเราเถิดว่าพ่อแม่ของท่านอยู่ที่ไหน"

     สุวรรณสามได้ยินพระราชาตรัสให้สัญญาก็ดีใจ กราบทูลว่า "พ่อแม่ของข้าพเจ้าอยู่ไม่ไกลจากที่นี่มาก นัก ขอเชิญเสด็จไปเถิด" พระราชาตรัสถามว่า สุวรรณสามจะสั่งความไปถึงพ่อแม่ บ้างหรือไม่ สุวรรณสามจึงขอให้พระราชาบอกพ่อแม่ว่า ตนฝากกราบไหว้ลาพ่อแม่มากับพระราชา

     เมื่อสุวรรณสาม ประนมมือกราบลงแล้ว ก็สลบไป ด้วยธนูพิษ ลมหายใจหยุด มือเท้าและร่างกายแข็งเกร็งด้วยพิษยา พระราชาทรงเศร้า เสียพระทัยยิ่งนัก รำลึกถึงกรรมอันหนักที่ได้ก่อขึ้นในครั้งนี้ แล้วก็ทรงระลึกได้ว่า ทางเดียวที่จะช่วยผ่อนบาปอันหนักของ พระองค์ได้ก็คือ ปฏิบัติตามวาจาที่สัญญาไว้กับสุวรรณสาม คือไป ปรนนิบัติดูแลพ่อแม่สุวรรณสาม เหมือนที่สุวรรณสามได้เคยกระทำมา พระราชากบิลยักขราชจึงนำหม้อน้ำที่สุวรรณสามตักไว้นั้น ออกเดินทางไปศาลาที่สุวรรณสามบอกไว้

     ครั้นไปถึง ทุกูลดาบสได้ยินเสียงฝีเท้าพระราชา ก็ร้องถามขึ้นว่า "นั่นใครขึ้นมา ไม่ใช่สุวรรณสามลูกเราแน่ ลูกเรา เดินฝีเท้าเบา ไม่ก้าวหนักอย่างนี้" พระราชาไม่กล้าบอกไปในทันทีว่าพระองค์ยิงสุวรรณสาม ตายแล้ว จึงบอกแต่เพียงว่า "ข้าพเจ้าเป็นพระราชา แห่งเมืองพาราณสี มาเที่ยวยิงเนื้อในป่านี้" ดาบสจึงเชิญ ให้พระราชาเสวยผลไม้ และเล่าว่าบุตรชายชื่อสุวรรณสาม เป็นผู้ดูแลจัดหาอาหารไว้ให้ ขณะนี้สุวรรณสาม ออกไปตักน้ำ อีกสักครู่ก็คงจะกลับมา

     พระราชาจึงตรัสด้วยความเศร้าเสียพระทัยว่า "สุวรรณสาม ไม่กลับมาแล้ว บัดนี้สุวรรณสามถูกธนูของ ข้าพเจ้าถึงแก่ ความตายแล้ว" ดาบสทั้งสองได้ยินดังนั้นก็เสียใจยิ่งนัก นางปาริกาดาบสินีนั้นแต่แรกโกรธ แค้นที่พระราชา ยิงสุวรรณสามตาย แต่ทุกูลดาบสได้ปลอบประโลมว่า "จงนึกว่าเป็นเวรกรรมของสุวรรณสามและของเราทั้งสองเถิด จงสำรวมจิตอย่าโกรธเคืองเลย พระราชาก็ได้ยอมรับผิดแล้ว"

     พระราชาตรัสปลอบว่า "ท่านทั้งสองอย่ากังวลไปเลย ข้าพเจ้าได้สัญญากับสุวรรณสามแล้วว่าจะปรนนิบัติ ท่านทั้งสองให้เหมือนกับที่สุวรรณสามเคยทำมาทุกประการ"

     ดาบสทั้งสองอ้อนวอนพระราชาให้พาไปที่สุวรรณสาม นอนตายอยู่ เพื่อจะได้สัมผัสลูบคลำลูกเป็นครั้งสุดท้าย พระราชาก็ทรงพาไป ครั้นถึงที่สุวรรณสามนอนอยู่ ปาริกาดาบสินีก็ช้อนเท่าลูกขึ้นวางบนตัก ทุกูลดาบส ก็ช้อนศีรษะสุวรรณสามประคองไว้บนตัก ต่างพากัน รำพันถึงสุวรรณสามด้วยความโศกเศร้า บังเอิญปาริกา ดาบสินีลูบคลำบริเวณหน้าอกสุวรรณสาม รู้สึกว่ายังอบอุ่นอยู่ จึงคิดว่าลูกอาจจะเพียงแต่ สลบไป ไม่ถึงตาย

     นางจึงตั้ง สัตยาธิษฐานว่า "สุวรรณสามลูกเราเป็นผู้ที่ประพฤติดีตลอดมา มีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่อย่างยิ่ง เรารักสุวรรณสาม ยิ่งกว่าชีวิตของเราเอง ด้วยสัจจวาจาของเรานี้ ขอให้พิษ ธนูจงคลายไปเถิด ด้วยบุญกุศลที่สุวรรณสามได้เลี้ยงดู พ่อแม่ตลอดมา ขออานุภาพแห่งบุญจงดล บันดาลให้ สุวรรณสามฟื้นขึ้นมาเถิด" เมื่อนางต้งสัตยาธิษฐานจบ สุวรรณสามก็พลิกกายไป ข้างหนึ่งแต่ยังนอนอยู่

ทุกูลดาบสจึงตั้งสัตยาธิษฐาน เช่นเดียวกัน สุวรรณสามก็พลิกกายกลับไปอีกข้างหนึ่ง

     ฝ่ายนางเทพธิดาวสุนธรี ผู้ดูแลรักษาอยู่ ณ บริเวณ เขาคันธมาทน์ ก็ได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า "เราทำหน้าที่ รักษาเขาคันธมาทน์มาเป็นเวลานาน เรารักสุวรรณสาม ผู้มีเมตตาจิต และมีความกตัญญูยิ่งกว่าใคร ด้วยสัจจวาจานี้ ขอให้พิษจงจางหายไปเถิด" ทันใดนั้น สุวรรณสามก็พลิกกายฟื้นตื่นขึ้น หายจาก พิษธนูโดยสิ้นเชิง ยิ่งกว่านั้นดวงตาของพ่อและแม่ ของสุวรรณสามก็กลับแลเห็นเหมือนเดิม

     พระราชา ทรงพิศวงยิ่งนัก จึงตรัสถามว่าสุวรรณสามฟื้นขึ้นมา ได้อย่างไร สุวรรณสามตอบพระราชาว่า "บุคคลใดเลี้ยงดูปรนนิบัติบิดามารดาด้วยความรักใคร่เอาใจใส่ เทวดาและมนุษย์ย่อมช่วยคุ้มครองบุคคลนั้น นักปราชญ์ย่อม สรรเสริญ แม้เมื่อตายไปแล้ว บุคคลนั้นก็จะได้ไปบังเกิด ในสวรรค์ เสวยผลบุญแห่งความกตัญญูกตเวทีของตน"


     พระราชากบิลยักขราชได้ยินดังนั้นก็ชื่นชมโสมนัสตรัสกับ สุวรรณสามว่า "ท่านทำให้จิตใจและดวงตาของ ข้าพเจ้า สว่างไสว ข้าพเจ้ามองเห็นธรรม ต่อนี้ไป ข้าพเจ้าจะรักษาศีล จะบำเพ็ญกุศลกิจ จะไม่เบียด เบียนชีวิตสัตว์อีกแล้ว" ตรัสปฏิญญาณแล้วพระราชาก็ทรงขอขมาโทษที่ได้กระทำ ให้สุวรรณสามเดือดร้อน แล้วพระองค์ก็เสด็จ กลับพาราณสี ทรงปฏิบัติตามที่ได้ตรัสไว้ทุกประการจนตลอดพระชนม์ชีพ ฝ่ายสุวรรณสามก็เลี้ยงดูปรนนิบัติพ่อแม่ บำเพ็ญเพียรใน ทางธรรมเมื่อสิ้นชีพก็ได้ไปเกิดในพรหมโลก ร่วมกับพ่อแม่ ด้วยกุศลกรรมที่กระทำมาคือ ความเมตตากรุณาต่อมนุษย์ และสัตว์ทั้งหลาย และความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา อันเป็นกุศลกรรมสูงสุดที่บุตรพึงกระทำต่อบิดามารดา

นิทานชาดก เรื่องนี้ สอนให้รู้ว่า ว่าด้วยเรื่องของความมีเมตตาจิต ซึ่งจะทำให้ชีวิตสุขสงบได้โดยไร้ภยันอันตรายใดๆ ธรรมนั้นคือเกราะแก้วมิให้ถูกผู้ใดทำร้ายได้เป็นแน่แท้

สุวรรณสามชาดกเรื่องนี้ก็จบลงด้วยประการฉะนี้ ฯ

วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2556

แม่นกถูกศรปักยังเลี้ยงลูก - นิทานเต้าจือจงจื่อ



แม่นกถูกศรปักยังเลี้ยงลูก

     ในยุคสมัยของสามก๊ก ทหารของรัฐเว่ย แม่ทัพเติ้งอ้ายได้ยกทัพนำำกองกำลังทหารเคลื่อนทัพเข้าตั้งที่เผยหลิง ยามมีเวลาเขาได้ไปท่องเที่ยวและมองเห็นบนต้นไม้มีนกตัวหนึ่งกำลังคาบอาหารป้อนให้กับลูกนก จึงเล็งลูกธนูยิงตรงไป เพื่อที่จะเสี่ยงดูว่าดีหรือร้าย เมื่อเสียงธนูดังก้องขึ้นนกตัวนั้นได้ยินเสียงก็ตื่นตระหนก แล้วรีบหลบหนี หากแต่เป็นเพราะว่าไม่อาจจะทิ้งลูกนกไว้ จึงได้บินกลับไปข้างๆรัง เพราะลูกธนูลูกแรกของแม่ทัพเติ้งอ้ายไม่ตรงเป้า เข้าจึงได้ยิงลูกธนูอีกดอกหนึ่ง ปรากฏว่ายิงโดนนกตัวนี้ แต่มันก็ยังคงดิ้นรนเอาอาหารป้อนให้กับลูกนกอีก ทั้งยังคาบเศษอาหารอีกเล็กน้อยมาค้างไว้ที่รักนก เหมือนกับจะสอนลูกนกให้รู้จักหยิบเศษอาหารด้วยตนเอง แล้วจึงส่งเสียงร้องติดกันด้วยความโศกเศร้าเจ็บปวด แล้วก็ขาดใจตกลงมาจากต้นไม้ ลูกนกที่อยู่ในรังยื่นคอออกมามองดู พร้อมกับเสียใจไม่หยุด แม่ทัพเติ้งอ้ายเมื่อเห็นเหตุการณ์เช่นนี้ก็ได้โยนธนูทิ้งลงบนพื้น พูดอย่างทอดถอนใจว่า "ข้าได้ฝืนกฏธรรมชาติ น่ากลัวว่าคงอยู่บนโลกได้ไม่นานแล้วสิ" 

     ความสัมพันธ์แม่ลูกมีมาแต่เดิมที แม่เมตตาเหน็ดเหนื่อยแล้วผู้ที่มีจิตญาณจะไม่รู้สึกซาบซึ้งหรือ ความคิดของเติ้งอ้ายที่ฆ่าสัตว์ทำให้พวกเขาแม่ลูกต้องพลัดพรากจากกัน ต่อมาแม้ว่าเขาจะออกรบพิชิตเมืองเสฉวน สร้างผลงานใหญ่ขึ้น แต่ถูกขุนนางจงฮุ่ยริษยาวางแผนเพื่อใส่ร้ายป้ายสี สุดท้ายถูกท่านซือหม่าเจาส่งนายทหารเว่ยก้วนไปฆ่าเสียชีวิต จึงเห็นได้ว่า ทำดี ทำชั่ว ย่อมมีกรรมสนอง





วันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2556

แม่ลูกสัมพันธ์ลึกซึ้ง - นิทานเต้าจือจงจื่อ



แม่ลูกสัมพันธ์ลึกซึ้ง 

สมัยก่อนมีคนๆ หนึ่งเลี้ยงแม่วัวแก่ๆ ตัวหนึ่งกับลูกวัว อยู่มาวันหนึ่งเขาก็ได้ขายไป โดยชาวนาคนหนึ่งได้ซื้อลูกวัวไป ส่วนแม่วัวแก่ตัวนั้นถูกคนฆ่าวัวซื้อไว้แล้ว คนฆ่าวัวได้จูงแม่วัวเดินข้ามคลองไป เดินตรงไปเพื่อที่จะกลับบ้าน

ชาวนาก็จูงลูกวัวยืนอยู่ริมคลอง ลูกวัวยืดคอร้องมอๆๆ ชาวนาตีลูกวัวให้เดินหน้า ลูกวัวเดินได้ไม่กี่ก้าวก็ยังหันหัวร้องเสียงยาว ถูกชาวนาบังคับพากลับไปขังไว้ในคอกวัว

พอตกกลางคืน คนฆ่าวัวต้มน้ำร้อนเสร็จแล้ว เตรียมการจะฆ่าแม่วัว ทันใดนั้นก็ได้ยินเสียงลูกวัวร้องอยู่ข้างนอก เสียงร้อนรนมาก ส่วนแม่วัวอยู่ข้างในได้ยินแล้วก็ส่งเสียงร้องตามกันขึ้นมา คนฆ่าวัวเมื่อเปิดประตูออก ก็เห็นลูกวัวที่ชาวนาซื้อไปเดินชนตรงเข้ามาในประตู พอเห็นแม่วัวก็เข้าไปคลอเคลีย กระโดดไปกระโดดมาอยู่ข้างๆ แม่วัวก็ได้เลียหัวลูกวัวอยู่ตลอดเวลา

คนฆ่าวัวแม้จะเหี้ยมโหด เมื่อเห็นภาพเหตุการณ์เช่นนี้รู้สึกหวาดหวั่นใจขึ้นมา จึงดับไฟในเตาลงแล้วตนเองก็เข้านอน ส่วนชาวนานั้นตื่นเช้าขึ้นมา หาลูกวัวไม่เจอ ตามหาไปทั่วจนพบกับคนฆ่าวัวเข้า คนฆ่าวัวก็เล่าเหตุการณ์เมื่อคืนที่ลูกวัวชนประตูให้ชาวนาฟัง ทั้งสองคนต่างทอดถอนใจเป็นเสียงเดียวกัน ชาวนาจึงซื้อแม่วัวแก่ต่อในราคาเดิมไป ทำให้วัวแม่ลูกสามารถอยู่ร่วมกันต่อไป เห็นได้ว่าสัตว์เดรัจฉานมีความผูกพัน แม่ลูกก็มีใจสื่อถึงกัน





บทความที่ได้รับความนิยม