เมนูอาหารเจ เทศกาลกินเจ

รวบรวม...เมนูอาหารเจอร่อยๆ สูตรอาหารเจง่ายๆ

คลิ๊กเลย >>> รวบรวมเมนูอาหารเจ..อร่อยๆ   สอนทำอาหารเจง่ายๆ

วันอังคารที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ปล่อยสัตว์ทางปาก มหากุศลยิ่งใหญ่ - พระโอวาทพระโพธิสัตว์กวนอิม เมตตา



พระโอวาทสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระโพธิสัตว์กวนอิม เมตตา

ปล่อยสัตว์ทางปาก มหากุศลยิ่งใหญ่

พระโอวาทพระโพธิสัตว์กวนอิม...

     "ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาผู้คนในโลกนี้ชอบกินเนื้อผู้อ่อนแอกว่า คนชอบแก่งแย่งกัน สัตว์เดรัจฉานก็เช่นเดียวกัน เนื่องจากคนไม่ยอมปล่อยสัตว์ กินเลือดกินเนื้อสัตว์เพื่อดำรงชีวิต ดังนั้นนิสัยคนและสัตว์จึงผสมกัน เลือดลมของคนและสัตว์ไม่อาจเข้ากันได้ จึงเป็นบ่อเกิดของโรคต่างๆ

ดังนั้น คนที่กินเนื้อสัตว์ สัญชาติของคนและสัตว์จึงปะปนกัน ไปทำลายจิตใจจนคนไม่เหมือนเก่า จึงพบหน้าคนใจสัตว์เต็มไปหมด จะเห็นได้จากคนที่เจริญแล้วในสังคม แต่กระทำในสิ่งที่ป่าเถื่อน บาปกรรมสร้างสมกันมา คนก็เริ่มเบียดเบียนถิ่นที่อยู่ของสัตว์ ทำอันตรายต่อชีวิต

ดังนั้น คนจึงลดฐานะลงจนจิตใจอยู่ในระดับเดียวกับพวกสัตว์ ยังความห่างไกลจากหนทางสู่ความสำเร็จของพุทธะ หากต้องการกลับไปสู่หนทางของพระอริยะเจ้าก็ต้อง ถือศีลกินเจ ปลดปล่อยชีวิตสัตว์ เพื่อชำระจิตใจให้ใสสะอาด และยังต้องช่วยเหลือให้สัตว์เหล่านั้นให้สำเร็จธรรมด้วย หากกระทำเช่นนี้ได้ แน่นอนทีเดียวเราก็ใกล้สำเร็จความเป็นพระพุทธะได้เช่นกัน

ข้อ ๑ งดการฆ่า
     สัตว์มีวิญญาณ มีเลือดเนื้อน้ำตา มีเจ็บปวดทรมานและจิตใจ โดยใช้จิตเมตตาธรรมและความกรุณาจึงทนดูการฆ่าไม่ได้ ปราชญ์เมิ่งจื้อกล่าวว่า... "สุภาพชนต้องอยู่ห่างครัวไฟ" นั่นคือไม่อยากให้มีการฆ่า ไม่อยากเห็นการฆ่า มนุษย์ที่มีจิตรักสัตว์ ระหว่างคนด้วยกันจะไม่มีการต่อสู้ฆ่าฟันกัน ฉะนั้น การงดเว้นการฆ่าสัตว์จึงเป็นพื้นฐานหล่อเลี้ยงจิตใจคนให้เกิดความเมตตากรุณา

ข้อ ๒ งดการกิน
     เมื่อไม่ฆ่าแล้วก็ต้องไม่กิน เนื่องจากไม่กินเป็นผลให้คนฆ่าน้อยลงหรือเลิกฆ่า พวกพืชผักมีคุณค่าเพียงพอสำหรับมนุษย์และไม่มีอันตราย เนื่องจากพวกสัตว์ไม่มีการชำระร่างกาย พวกเชื้อโรคจึงเข้าอาศัยอยู่ได้ง่าย คนที่กินเนื้อก็จะได้รับเชื้อโรคทำให้เกิดโรคร้ายเนื้องอก มะเร็งต่างๆ ได้สารพัด แพทย์ก็จนปัญญาที่จะรักษา ในที่สุดก็ต้องทิ้งสังขารนี้ไป ยิ่งไปกว่านั้น คนที่กินเนื้อก็มักจะได้รับการก่อกวนจากวิญญาณสัตว์ ทำให้จิตของคนทุกวันนี้ไม่ปกติสุข ซึ่งทำให้โรคภัยไข้เจ็บทวีขึ้น จึงอยากให้ชาวโลกเลิกทานเนื้อสัตว์ หันมากินพืชผักธรรมชาติ ถึงแม้อยู่ในทำเลที่ไม่สะดวก การกินอาจจะขัดสนแต่จิตใจก็ไม่หลอกลวงทุจริตและปล้นจี้เกิดขึ้นแล

ข้อ ๓ ปล่อยสัตว์
เมื่อสามารถงดเว้นการฆ่าสัตว์แล้ว งดการกินเนื้อสัตว์ได้แล้วแต่ก็ยังไม่พอ เพราะยังสัตว์พวกนก ปลาและเต่า ที่ยังถูกฆ่าอีกจำนวนมากมาย เพื่อให้จิตเกิดความเมตตาควรซื้อหาสัตว์มาปล่อยให้มันมีชีวิตอย่างอิสระ เป็นการช่วยเหลือให้พ้นจากการถูกคุมขัง รอดจากการสังหารสัตว์เหล่านี้จะระลึกถึงบุญคุณโดยไม่อาจบรรยาย

การที่พวกมันต้องไปเกิดเป็นสัตว์นั้นก็ล้วนมีสาเหตุเกิดจากทำบาปหนักตั้งแต่ชาติก่อน โดยเฉพาะละเมิดศีลข้อหนึ่งคือเว้นจากการเบียดเบียนเข่นฆ่าสัตว์ ควรได้รับโทษประหาร แต่ผู้ที่มีจิตเมตตาควรอโหสิกรรมให้พวกมันเสีย นับประสาอะไรที่มันก็ไม่ได้ทำอันตรายเราและไม่มีความสามารถด้วย

งดฆ่าสัตว์ งดกินเนื้อสัตว์ แต่ให้ปล่อยสัตว์ ทั้งหมดที่กล่าวนี้เป็นแบบฝึกฝนสำหรับผู้บำเพ็ญเพียร เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ ชำระวิญญาณให้ใสสะอาด

วิธีช่วยให้สัตว์เดรัจฉานได้ฝึกฝนธรรมะนั้นคือ "ช่วยกันพิมพ์หนังสือธรรมะเผยแพร่" ทำให้คนมีความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจสัตว์ ยังสามารถรู้ถึงความรู้สึกในใจของสัตว์อีกด้วย เพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสสร้างความดีเพื่อลบล้างความผิด แท้จริงสัตว์ก็คือคนเวียนมาเกิดนั่นเอง เขามีสิทธิที่จะมีชีวิตดำรงอยู่ในโลกเช่นเดียวกับเรา

ด้วยเหตุนี้ จึงจะระงับอารมณ์ความโหดร้ายทารุณลงได้ เพื่อให้โลกมนุษย์นี้กลับกลายเป็นสุขาวดีแดนพุทธเกษตร มนุษย์และสัตว์อยู่กันอย่างสันติสุข เพื่อเพื่อนมนุษย์ เพื่อผู้อื่น เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะเกิดความร่มเย็นกันถ้วนหน้า เป็นแดนบริสุทธิ์ในโลกมนุษย์เท่ากับสมความตั้งใจของโพธิสัตว์ที่จะโปรดสรรพสัตว์ให้หมดโลกก่อนเข้าสู่พระนิพพาน"






จิตใจดีก็ดีพอแล้ว ทำไมต้องถือศีลกินเจ ? - พระโอวาทพระพุทธจี้กง เมตตา



พระโอวาทสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธจี้กง เมตตา

        "ศิษย์ทุกคนลักษณะการเกิดของสิ่งมีชีวิตมีอยู่สี่แบบ เกิดจากครรภ์ เกิดจากไข่ เกิดในที่ชื้นแฉะ และเกิดผุดขึ้นเอง ชีวิตคือธรรมญาณ ให้ความสำคัญกับชีวิตจึงต้องคุ้มครองรักษา จึงต้องทะนุถนอมชีวิต ยิ่งต้องคุ้มครองรักษาทะนุถนอมธรรมญาณ อย่าทำร้ายสิ่งมีชีวิต เพราะว่าสัตว์เดรัจฉานถูกทำโทษโดยวิธีต่างๆ ให้มีขน มีเขา ดังนั้น จึงไม่ควรกินเขา ไปลงโทษเขาซ้ำเติม ถูกกินเป็นๆ ถลกหนังเป็นๆ ทำต้มทำแกงด้วยวิธีทรมานต่างๆ ไม่ว่าคนหรือสัตว์เดรัจฉาน ล้วนต่างมีธรรมญาณเดียวกัน ล้วนต่างมีพุทธจิต แม้ตัวหนอนก็มีพุทธจิต

       จากจุดยืนของศิษย์ประเมินด้วยสายตาและท่าทาง อาจจะมองว่าคนกับสัตว์ช่างแตกต่างกันเหลือเกิน คนมีความคิด คนมีวิจารณญาณตรึกตรอง คนศรีษะชี้ฟ้าเหยียบดิน ดังนั้น...มองด้วยสายตาทั่วไปย่อมคิดว่าคนกับสัตว์แตกต่างกัน  แต่ถ้าหากมองด้วยสายตาพระพุทธะ ไม่ว่าจะเป็นคนหรือเดรัจฉานต่างมีชีวิต ล้วนมีจิตญาณ ธรรมญาณของสัตว์ปีก สัตว์เดินเท้ากับธรรมญาณของคนเหมือนกัน ไม่มีความผิดแผกแตกต่าง เขาเหล่านั้นเวียนว่าย เป็นเดรัจฉานมีขนเต็มตัว หัวมีเขา มีเล็บแหลมคมเป็นปลาก็มีครีบ ถูกลงโทษให้มีเกล็ด แต่ธรรมญาณของเขากับคนยังเหมือนกัน

       สัตว์แต่ละชนิดรูปร่างหน้าตาไม่เหมือนกัน เปรียบเหมือนแม่หนึ่งคนมีลูกหลายคน ลูกๆ ต่างมีหน้าตาไม่เหมือนกัน คนกินสัตว์ สัตว์กับสัตว์ต่างกินกัน เหมือนลูกๆเหล่านี้ต่างลืมไปและไม่รู้ว่าเขาต่างเกิดมาจากต้นรากเดียวกัน กลับต้องมากินกันและกัน เนื้อเราเนื้อเวไนย นามขานต่างกันแต่ต่างมีกาย ต่างมีญาณเดียวกัน ต่างกันแต่ร่าง

       คำกล่าวที่ว่า "จิตใจดีก็ดีแล้ว ทำไมต้องถือศีลกินเจ คนเหล่านี้ทำบาปกรรมไว้จึงได้หันมาถือศีลกินเจ" พูดอย่างนี้ถูกต้องไหม ก็พูดได้ไม่ผิด แต่ถูกครึ่งเดียว เพราะว่าอดีตชาติของศิษย์ได้ทำบาปกรรมไว้ คนจึงพูดกันว่าจะต้องรีบถือศีลกินเจ จิตใจดีก็ดีแล้ว ทำไมต้องถือศีลกินเจ

      เรามาดูกัน ที่อาจารย์จะพูดต่อไปนี้ ศิษย์คงได้เห็นตามโทรทัศน์ หรืออาจเคยเห็นด้วยตาตนเอง ลองมาดูสิว่า วิธีการกระทำไหนบ้างที่เรียกว่าใจดี ขณะสัตว์ถูกจับไปฆ่าเป็นๆ ทำลายชีวิต ชำแหละร่าง แทะกินกระดูก กินเลือดกินเนื้อเขา อย่างนี้เรียกว่าใจดีไหม คนที่กินเนื้อเขา มักจะพูดปัดความรับผิดชอบ ผลักกรรมไปให้คนฆ่า ไปให้โรงฆ่าสัตว์

"เขาไม่ขาย เราไม่ซื้อ เขาไม่ฆ่า เราไม่กิน เขาฆ่าเรากิน เขาขายเราซื้อ"

แต่คนที่ฆ่าเขาไม่ได้คิดเช่นนั้น เขาจะปัดความรับผิดชอบผลักกรรมนั้นไปให้คนกิน ดังนั้นขณะที่ทำการฆ่าเป็ด ไก่ วัว แพะ ปากก็มักจะพึมพำกับไก่บ้าง กับหมูบ้าง ว่า...

"หมูนะหมู เจ้าอย่าถือโทษเรา เจ้าเป็นอาหารให้กับคนกิน ถ้าเขาไม่กินเราก็ไม่ฆ่า เจ้าจงไปทวงหนี้กับคนกิน" 

     ดู... นี่เพราะใจฝ่ายดีนั้นหวาดกลัว ต่างปัดโทษของตัวเองแต่ด้วยเหตุต้นผลกรรมนั้น กล่าวได้ว่า ไม่มีใครสามารถหลบเลี่ยงความผิดได้ บาปกรรมนี้เกิดจากการฆ่าและการกิน ก่อให้เกิดกรรมร่วมขึ้น ต่างแบกรับกันทั้งสองฝ่าย

     ดังนั้น เดรัจฉานกับคนต่างมีเลือด มีเนื้อ มีน้ำตาเหมือนกัน ล้วนมีเลือดเนื้อกายสังขาร เพราะว่ามีความอยากกิน มีกระบวนการซื้อขาย ดังนั้นจึงมีคนทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้า นี่คือยืมมีดฆ่าทางอ้อม

     ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าโดยตรง หรือฆ่าทางอ้อม ต่างได้สร้างกรรมในการฆ่า เมื่อบาปกรรมสนองจึงมีคนบนบานขอบุญวาสานา ทำการฆ่ามากเกินไป วอนขอให้โชคดีคงยาก คนที่กินเนื้อมากเกินไปสนองร้ายแรงหน่อย ครอบครัวจะไม่สงบสุข ร่างกายไม่แข็งแรงลูกหลานไม่กตัญญู กิจการงานไม่ราบรื่น สิ่งที่ต้องการมักไม่ได้อย่างใจหวัง
   
ในศูรางคมสูตร กล่าวไว้ว่า "คนกินเนื้อสัตว์ บุญวาสนาที่ขอจะไม่ได้ดังหวัง คนที่กินเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะสร้างบุญหรือขอวาสนา ต่างล้วนไม่ได้ดังขอ คนที่กินเนื้อสัตว์ บำเพ็ญธรรมจะมีอุปสรรคยิ่ง"

ในลังกาวตารสูตร กล่าวไว้ว่า "เลือดเนื้อที่กล่าว พุทธอริยะต่างงดเว้น คนที่กินเนื้อ พุทธอริยะสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะห่างไกล ปากมีกลิ่นคาวเลือดคาวเนื้อ เนื้อมิใช่เป็นสิ่งน่ากินเนื้อไม่สะอาดบริสุทธิ์ ก่อเกิดบาปเวรทำลายบุญวาสนา เป็นสิ่งที่พุทธอริยะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายทอดทิ้ง"

ในศูรางคมสูตร กล่าวไว้ว่า "คนกินเนื้อ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ห่างไกล เวไนยหวาดกลัว คนกินเนื้อโดยเฉพาะคนทำการฆ่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์พุทธะล้วนออกห่าง เวไนยที่มีรูปลักษณ์ไม่มีรูปลักษณ์ เห็นแล้วต่างหวาดกลัว ดังนั้นคนที่กินเนื้อ คนที่ฆ่า จะไม่ได้รับการคุ้มครองจากพญานาคทั้งแปด จะไม่ได้ญาณที่ดี ไม่ได้รับการคุ้มครองช่วยเหลือในการบำเพ็ญญาณ  คนที่กินเนื้อ ตายแล้วตกสู่ช่องทางชั่วร้าย ที่ว่าช่องทางชั่วร้ายคือ นรก เดรัจฉาน เปรต รับทุกข์ไม่จบสิ้น"
(*พญานาคทั้งแปด ๑.นันทนาคราช ๒.อุปนันทนาคราช ๓.สาครนาคราช ๔.วาสุกินาคราช ๕.ตักษกนาคราช ๖.อนวตัปตนาคราช ๗.มนัสวีนาคราช ๘.อุตปลกนาคราช)
        
       ศิษย์ทุกคน น้ำทะเลที่ว่าเยอะ พอถึงเวลาขึ้นก็เอ่อขึ้นเต็มที่ มีเวลาขึ้น มีเวลาลง แต่ปากที่อยู่ใต้จมูก ไม่มีพื้นที่สิ้นสุด ไม่มีวันที่จะถมเต็มได้ มักกล่าวกันว่า "เนื้อ ปลา หอมหวาน เอร็ดอร่อย" นั่นเป็นเพียงเวทนาสัมผัสจากลิ้นสั้นๆ ไม่กี่นิ้ว รับรู้ลิ้มรสความสุขแลความพอใจ หลังจากกลืนลงไป แล้วก็ไม่มีความรู้สึกใดอีก แต่กลับเพิ่มเหตุต้นผลกรรมขึ้นมา

       ผลร้ายจากการโลภอยากกินเพื่อปากท้อง ก่อหนี้กรรมดั่งภูเขา กรรมเก่ายังไม่หมดกลับสร้างกรรมใหม่อีก กลืนกินทุกชาติกรรมสนองกรรม ดังนั้นหนี้สินเวรกรรมตามทวงกันไม่ทราบเมื่อไหร่จึงจะจบสิ้น มักกล่าวกันว่า ปลูกเหตุอะไรไว้มักได้ผลตามที่ปลูก ปลูกเหตุจากการฆ่าย่อมได้ผลคือถูกฆ่า ชาตินี้กินเนื้อเวไนย ก่อเหตุเลวร้ายชาติต่อไปเป็นเนื้อบนเขียงให้เขาสับ ให้เขาฆ่า เชือดเฉือนตามอำเภอใจ ไม่มีทางหลีกหนีได้

      ในปัจจุบัน ประเทศต่อประเทศต่างแก่งแย่งกัน ซุ่มสร้างอาวุธสงคราม ก่อกรรมทำเข็ญ แข่งขันกันสร้างเครื่องมือประหัตประหาร โลกทั้งโลกตลบอบอวลไปด้วยบรรยากาศแห่งการฆ่า อันตรายรอบด้าน มีความรู้สึกไม่ปลอดภัย มีความรู้สึกไม่สงบสุข นี่เพราะเหตุใด นี่เพราะ...หลายกัปผ่านมา เวไนยได้ฆ่าและกินเนื้อสั่งสมกรรมมากมาย ทำกรรมจากการฆ่า กรรมสนองกรรม

      ปัจจุบันเกิดภัยพิบัติต่อเนื่อง เกิดเหตุวุ่นวายไม่เป็นสุข ไม่ใช่ลมพายุวาตภัยก็เป็นภัยแล้ง ไม่ใช่แผ่นดินไหวก็เกิดแมลงทำลายพืชผล รวมทั้งสงครามเกิดขึ้นทุกหัวระแหง ที่นี่หยุดที่นั่นเกิด ทั้งสงครามกองโจร สงครามศาสนา (ไปยาลใหญ่) ทั้งหมดนี่เพราะเวไนยไม่รู้จักถนอมรักษาชีวิต ถนอมรักษ์ชีวิตของตนเอง ถนอมรักษ์ชีวิตของผู้อื่น ถนอมรักษ์ชีวิตของเวไนย

     เมื่อไม่ถนอมจึงเกิดการตีกัน ฆ่ากัน ทั้งหมดเพราะเวไนยไม่ใช้จิตเมตตาเป็นที่ตั้ง ไม่ใช้จิตเมตตาปฏิบัติต่อผู้อื่น ดังนั้น จึงเกิดภัยพิบัติขึ้น เกิดเคราะห์ร้าย สรุปทั้งหมดคือขาดความเมตตา ไม่มีคุณธรรม วันนี้คนที่ถือศีลกินเจ อยู่ในระหว่างฟูมฟักปลูกฝังคุณธรรม เมตตาธรรม เกิดจิตดีงาม

ท่านเอวี๋ยนอวิ๋นฉันซือ มีโศลกที่ห้ามกินเนื้อสัตว์ว่า...
ร้อยพันปี กินเลือดเนื้อ ในชามแกง
แค้นรุนแรง ดั่งทะเล ยากสงบ
ภัยสงคราม โลกนี้ ไยพานพบ
ยามค่ำพลบ ยินเสียงร้อง ก้องโรงฆ่า

     เพราะว่าโลกนี้มีสิ่งต่างๆ ที่ไม่สะอาดหมดจด มีการฆ่า ลักขโมย ผิดศีลกาเม โกหกหลอกลวง ดื่มสุรา จึงเกิดภัยสงคราม วาตภัย ภัยแล้ง โรคระบาดร้ายแรง ฯลฯ เกิดความทุกข์ยากลำบากให้เวไนยต้องรับผล เหมือนกับเกิดไม่รู้จักจบจักสิ้น

     ศิษย์ทุกคนจะต้องรู้ สถานที่ที่ทำการฆ่ามาก กินเนื้อสัตว์มาก วิญญาณที่ถูกฆ่าโดยไม่มีความผิด รวมกันโดยไม่สลาย นี่คือ "กรรมร่วม" ขณะที่กรรมร่วมเกาะกันแน่น โอกาสเหมาะ ถึงวาระปะทุขึ้น จึงก่อเกิดภัยพิบัติเนืองๆ ดังนั้น ภัยพิบัติความทุกข์ยากของเวไนย ยากหลีกเลี่ยงเพราะว่าเวไนยล้วนก่อกรรมร่วม ยังมีโทษทัณฑ์ของตนเอง ความผิดพลาดมากมาย ฯลฯ

     เหตุต้นผลกรรมของบาปเวร  ยังพอมีวิธีที่จะผ่อนผันได้ ก่อนอื่นต้อง"เลิกเครื่องมือฆ่า" ที่ว่าเลิกเครื่องมือฆ่า คือ ต้องถือศีลกินเจ ห้ามฆ่าสัตว์ ให้ปล่อยชีวิตสัตว์ สร้างบุญก่อเกิดบุญวาสนา เจริญปณิธาน"

กับข้อสงสัยที่ว่า....สัตว์เดรัจฉานเหล่านี้ หากว่าเราไม่กิน มันไม่บินกันเต็มท้องฟ้าหรือ ? - พระโอวาทพระพุทธจี้กง เมตตา


บำเพ็ญธรรม จิตใจดี มีเมตตา กรุณา

      อาจารย์จะให้แนวทัศนคติกับเจ้าไว้ ผู้ที่บำเพ็ญโพธิสัตวธรรม ทุกครั้งที่เกิดจิตดำริจะต้องรักษาความสำนึกที่ดีงามไว้ ทุกหนทุกแห่งจะต้องเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง

บางคนอาจจะอยากถามอาจารย์ว่า...สัตว์เดรัจฉานเหล่านี้ หากว่าเราไม่กิน มันไม่บินกันเต็มท้องฟ้าหรือ ?

อาจารย์จะบอกกับเจ้า หากเจ้าคิดว่า เป็ด ไก่ ปลา เกิด มาให้คนกิน ทว่าเสือก็กินคน อย่างนี้คนก็ต้องยอมให้เสือกินใช่หรือไม่ หรือยุงที่ดูดเลือดคน เจ้าก็ต้องเลี้ยงยุงไว้ดูดเลือดเจ้าใช่หรือไม่ ยุงกัดเจ้า เจ้าตบยุงไหม ฉะนั้นอย่าเห็นแก่ตัว เอาใจเขามาใส่ใจเรา

เราลองมาแจกแจงดู ว่าทำไมจึงมีเหตุต้นผลกรรม อันว่าเหตุต้นผลกรรมนี้ ไม่ว่าจะนับถือศาสนาไหนๆ ก็เลี่ยงไม่พ้น เกิดมามีชีวิตย่อมจะต้องเวียนว่ายอยู่ในกฏแห่งกรรม

น้ำเป็นพลังงาน
เมื่อน้ำอยู่ในโรงงานผลิตไฟฟ้า น้ำคือหน่วยพลังงาน
น้ำไหลไปถึงเครื่องกำเนิดไฟฟ้า กลายเป็นพลังไฟฟ้า
พลังไฟฟ้าไหลต่อไปกลายเป็นพลังแสงสว่าง
แสงสว่างไหลต่อไปกลายเป็นพลังความร้อน
ดังนั้น น้ำโดยตัวของมันไม่ใช่ไฟฟ้า ไฟฟ้าไม่ใช่แสงสว่าง แสงสว่างไม่ใช่ความร้อน

แต่ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงองค์(องค์ ส่วน ภาค ลักษณะ) หนึ่งเท่านั้น เป็นการปริวรรต(หมุนเวียน เปลี่ยนแปลง) ของสมรรถ(สามารถ) พลังงานอย่างหนึ่ง เป็นการเปลี่ยนย้ายคุณสมบัติปริมาณ

ดังนั้นขณะเจ้ามีกำลังมากเจ้าจะขึ้นสู่เบื้องบน ไม่มีกำลังเจ้าจะตกลงล่าง

หากไม่บำเพ็ญจะตกลงสู่การเวียนว่ายในภูมิวิถีหก ภูมิวิถีหกนี้ล้วนเป็นเพราะมนุษย์ทำให้เกิดการเวียนว่าย

เป็นการกระทำของมนุษย์ขณะมีชีวิตในแต่ละชาติ ตัดสินจากพลังปริมาณของกรรม

เดรัจฉานไม่ใช่คน คนไม่ใช่ยุง แล้วทำไมจึงเปลี่ยนกันไปมาได้ นี่คือความหมายอันเดียวกัน

ดังนั้น จึงต้องบำเพ็ญธรรม จึงจะมีพลังในการบุกทลายกำแพงแห่งเหตุต้นผลกรรมได้ จึงจะขึ้นสู่เบื้องบนได้ หากไม่ปฏิบัติบำเพ็ญก็จะไม่มีบุญกุศล ย่อมตกลงสู่ภพภูมิล่าง หวังว่าพวกเจ้าทุกคนจะพึงระมัดระวัง





ทำไมเราจึงไม่ควรกินเนื้อสัตว์ ข้อคิดพิจารณาธรรม โดย ท่านพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกข์


ข้อคิดพิจารณาธรรม ท่านพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกข์ สุราษฎร์ธานี

ทำไมเราจึงไม่ควรกินเนื้อสัตว์?
        เพราะเป็นการปฏิบัติเพื่อยึดเอาประโยชน์ทั้งฝ่ายโลกและฝ่ายธรรม การไม่กินเนื้อสัตว์เป็นทางก้าวหน้าของสัมมาปฏิบัติอย่างหนึ่ง ซึ่งได้ผลมาก โดยลงทุนทางวัตถุน้อยที่สุดแต่ให้ผลมากทางใจ

ประโยชน์ทางฝ่ายธรรม

ข้อที่ ๑ เป็นการเลี้ยงง่ายยิ่งขึ้น
       เพราะพวกพืชผัก เป็นของหาง่ายในหมู่คนยากจนเข็ญใจ ซึ่งมีการปรุงอาหารด้วยผักเป็นพื้น นักกินผักย่อมไม่มีเวลาไปกระวนกระวาย เพราะอาหารไม่ค่อยจะถูกปากถูกลิ้นนักเลย ในขณะที่นักกินเนื้อมักต้องเลียบ ๆ เคียง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งภัตตาหารเนื้อบ่อย ๆ ญาติโยมเสียไม่ได้ในท่าทีก็พยายามหามาถวาย
       ศรัทธาญาติโยมที่มีใจเป็นกลาง เคยปรารภกับข้าพเจ้าหลายต่อหลายครั้งว่า เขาสามารถจะเลี้ยงพระได้ถึง ๕๐ รูป โดยไม่รู้สึกลำบากอะไรเลย หากเป็นอาหารที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อกับปลา แต่ที่ผ่านมาต้องฝืนใจทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้อย่างมากๆ ไม่ใช่ว่าจะคิดว่า เนื้อมีราคาแพงกว่าผักแต่เป็นเพราะรู้ว่าสัตว์ถูกฆ่าตาย เพื่อการทำบุญเลี้ยงพระของเรามีอีกหลายคน ที่ทีแรกค้านว่าการทำอาหารมังสวิรัติวุ่นวายลำบาก แต่เมื่อได้ทดลองทำไป ๒-๓ ครั้ง กลับสารภาพว่าเป็นการง่ายเสียยิ่งกว่าง่าย เพราะบางคราวไม่ต้องไปติดไฟเลยก็มี ตัณหาของนักกินผักกับกินเนื้อมีความแตกต่างกันอย่างไร จะกล่าวในข้อหลังเฉพาะข้อนี้ขอจงทราบไว้ว่า “คนกินเนื้อสัตว์ เพราะแพ้รสตัณหา กินเพราะตัณหา ไม่ใช่เพราะเลี้ยงง่าย”

ข้อที่ ๒. เป็นการฝึกในส่วน “สัจธรรม”
         คนเราห่างไกลจากความพ้นทุกข์ก็เพราะมีนิสัยเหลวไหลต่อตัวเอง สัจจะในการกินผักนั้นเป็นแบบฝึกหัดที่น่าเพลินบริสุทธิ์ ได้ผลสูงเกินกว่าที่คนไม่เคยทดลองจะคาดถึง พืชผักเป็นอาหารที่จะหล่อเลี้ยง “ดวงธรรมแห่งสัจจะ” ในใจของเราให้สมบูรณ์แข็งแรง ดังนั้นการฝึกกินผัก อาหารพืชผักจึงเป็นแบบฝึกหัดสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม ที่ยอดเยี่ยมกว่าแบบฝึกหัดอย่างอื่นๆ เพราะแบบฝึกหัดบางอย่างค่อนข้างง่าย แต่บางอย่างก็ยากเกินจะฝึกทำให้ไม่สามารถนำมาเป็นเกมฝึกหัดประจำทุกๆวัน แต่เราผู้ปฏิบัติธรรมต้องฝึกทุกวันจึงจะได้ผลเร็ว เหตุฉะนี้การฝึกใจด้วยเรื่องอาหารอันเป็นสิ่งที่เราต้องบริโภคอยู่ทุกวันจึงเหมาะมาก อย่าลืมพระพุทธภาษิตที่มีใจความว่า “สัจจะเป็นคู่กับผ้ากาสาวพัสตร์”

ข้อที่ ๓.เป็นการฝึกในส่วน“ทมะ”ธรรม
        “ทมะ” คือ การข่มใจให้อยู่ในอำนาจ คนเราเป็นทุกข์เพราะตัณหาอันได้แก่ ความอยากที่ข่มใจไว้ไม่อยู่ มีข้อพิสูจน์เฉพาะเรื่องผักกับเนื้อง่ายๆ เช่น ข้าพเจ้าเคยเห็นชาวบ้านที่มาจากป่าดอนสูงๆ อุตสาห์หาบเอาพวกพืชผักลงมาแลกปลาแห้งๆ จากชาวบ้านแถบริมทะเลขึ้นไปกินทั้งๆ ที่ต้องเสียเวลาเป็นวันๆ ในขณะที่กลางบ้านของเขาก็มีอาหารพวกพืชผัก เผือก มัน ฟัก มะพร้าว ฯลฯ อย่างอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งอาหารเหล่านี้ยังเป็นของสด สามารถบำรุงร่างกายได้มากกว่าปลาแห้งๆ และขึ้นราที่พวกเขาสู้อุตส่าห์ลงมาหามหิ้วขึ้นไปเก็บไว้กินเป็นไหนๆ
        ดังนั้น... ผู้ที่ไม่มีการข่มรสตัณหาจักต้องเป็นทาสของความทุกข์ และถอยหลังต่อการปฏิบัติธรรม เหตุนี้การข่มจิตด้วยเรื่องอาหารการกินจึงเหมาะมาก เพราะจะมีการข่มได้ทุกวันการข่มจิตอยู่เสมอเป็นของคู่กับผ้ากาสาวพัสตร์เช่นกัน โปรดทราบ! ว่ามันเป็นการยากยิ่งที่คนแพ้ลิ้นจะข่มตัณหา โดยพยายามเลือกกินแต่ผักจากจานอาหารที่เขาปรุงด้วยเนื้อ และผักปนกันมาจงยึดเอาเกมกีฬาฝึกข่มจิต ที่เป็นเครื่องชนะตนอันนี้เถิด การเลี้ยงพระในงานต่างๆ ข้าพเจ้าเคยเห็นเคยได้ยินเสียงเอ็ดตะโร เรียกเอาแต่อาหารเนื้อส่วนอาหารผักล้วนดูเหมือนว่าเป็นการยากที่จะถูกเลือกกับเขา มิหนำซ้ำยังเหลือกลับไปอีก แม้กระทั่งอาหารที่ปรุงระคนกันมาก็หายไปแต่ชิ้นเนื้อคงเหลือแต่ผักติดจานกลับไป และยิ่งไปกว่านั้น ก็คือควรรู้ไว้ด้วยว่าบรรดาพ่อครัวแม่ครัวและเจ้าภาพเขารู้ตัวก่อนด้วยซ้ำไป จึงปรุงอาหารเนื้อสัตว์เอาไว้ให้มากกว่าอาหารผักหลายเท่านัก ทั้งนี้ก็เพราะตัณหาทั้งของฝ่ายแขกเหรื่อชาวบ้าน และฝ่ายบรรพชิตทั้งหลายร่วมมือกัน “แบ่งอิทธิพล”

ข้อที่ ๔. เป็นการฝึกในส่วน “สันโดษ”
         สันโดษ คือ ความพอใจเฉพาะสิ่งที่มีอยู่ตามฐานะของตน โดยทั่วไปชีวิตของผู้ออกบวชย่อมดำรงอยู่ด้วยอาหารชั้นเลว ทว่าข้าพเจ้าเคยเห็นบรรพชิตบางรูป เว้นไม่ยอมรับอาหารจากคนจนเพราะเห็นว่าเลวเกินไป คือเป็นเพียงผักหรือผลไม้ชั้นต่ำ และถึงแม้จะรับมาก็เพื่อทิ้ง นี่เป็นตัวอย่างของผู้ที่ไม่เคยมีความสันโดษหรือถ่อมตนดังนั้น... การฝึกเป็นนักกินผัก กินอาหารอย่างง่าย ๆ จะแก้ได้หมด “สันโดษเป็นทรัพย์อย่างเอกของบรรพชิต”

ข้อที่ ๕. เป็นการฝึกในส่วน “จาคะ”
        จาคะ คือ การสละสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อความสงบหรือความพ้นทุกข์ นักกินผักที่แท้จริงมีดวงจิตบริสุทธิ์ผ่องใส เกินกว่าที่จะมีใจนึกอยากในเรื่องจะบริโภคอาหารที่มีรสหลากหลาย เพราะผักไม่ยั่วในการบริโภคมากไปกว่ากินเพื่ออย่าให้ตาย ซึ่งต่างไปจากเนื้อสัตว์ที่ยั่วให้ติดรสและมัวเมาอยู่เสมอ ความอยากในรสที่เกินจำเป็นของชีวิตความหลงใหลในรส ความหงุดหงิด เมื่อไม่มีเนื้อที่อร่อยมาเป็นอาหาร ฯลฯ เรื่องเหล่านี้ข้าพเจ้ารับรองได้ว่า ไม่มีดวงจิตของนักกินผักเลย ส่วนนักกินเนื้อนั้น ท่านจะทราบของท่านได้เองเป็นปัจจัตตัง เช่นเดียวกับธรรมะอย่างอื่นๆ

ข้อที่ ๖. เป็นการฝึกในส่วน “ปัญญา”
         ปัญญา คือ ความรู้เท่าทันดวงจิตที่กลับกลอก การใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นโทษของการยึดมั่น และให้ใจละวางความยึดมั่นในการกินอาหาร แบบฝึกหัดที่ยากและเป็นก้าวที่ใหญ่ของการปฏิบัติธรรมเช่นนี้ ไม่มีอะไรดีไปกว่าการฝึกบริโภคอาหารผัก ที่จะเป็นอารมณ์อันบังคับให้ท่าน ต้องใช้พิจารณาตัวเองอยู่เสมอทุกมื้อเพราะเนื้อทำให้หลงในรส ส่วนผักทำให้ยกใจขึ้นไป ซึ่งเหมาะแก่สันดานของสัตว์ผู้มีกิเลสย้อมใจจนจับแน่นเป็นน้ำฝาดมาแต่เดิมปัญญาของท่านต้องรู้อยู่เสมอว่า ไม่ใช่จะไปนิพพานได้เพราะกินผัก เป็นแต่การกินผักจะช่วยขัดเกลากิเลสทุก ๆ วัน แท้จริงแล้วข้าพเจ้าไม่ได้มีความเห็นว่าฝ่ายที่จะช่วยขัดเกลาจิตใจต้องเป็นผักความจริงอาจจะถือว่า ผักเป็นอาหารชั้นเลวหรือไม่ประณีตก็พอแล้ว แต่เมื่อมาพิจารณาใคร่ครวญให้ดีแล้วมันมาตรงกับอาหารผัก เพราะจะทำอย่างไร เนื้อก็เป็นของชวนกินเพียงแต่ต้มเฉย ๆ พอได้กลิ่นมันก็ยั่วตัณหาอยู่ดี! เพราะฉะนั้นฝ่ายที่จะปราบตัณหา จึงกลายเป็นเกียรติยศของผักไป อาหารผักเป็นอาหารที่ข่มตัณหาได้ และมีแต่ความบริสุทธิ์จึงเหมาะสม สำหรับผู้ที่ระแวงภัย และตั้งอยู่ในความไม่ประมาทอยู่เสมอ

ผลดีในฝ่ายโลก
          อาหารผักมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายยิ่งกว่าเนื้อสัตว์หรือไม่? เรื่องนี้วิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน ก็บอกแก่เราชัดแจ้งอยู่แล้วว่าอาหารผัก จะทำให้ผู้บริโภคมีกำลังแข็งแรงโรคน้อย ดวงจิตสงบ ช่วยให้ความกระหาย ในความอยาก ความโกรธ ความมัวเมา บรรเทาลงเป็นอันมาก

บทความที่ได้รับความนิยม